วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการมองหาเอเลียนด้วยสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตเรืองแสง

อวกาศ

แม้มนุษย์จะยังค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวไม่พบสักที แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่ละความพยายาม โดยต่างเสนอเทคนิควิธีการใหม่ ๆ เพื่อมองหา "เอเลียน" ซึ่งซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งในห้วงอวกาศให้จงได้
ล่าสุดนักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาเทคนิคการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว ด้วยการมองหาสัญญาณ "การเรืองแสงชีวภาพ" (Biofluorescence) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่สิ่งมีชีวิตบางประเภทตอบสนองต่อการปะทุรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) อย่างรุนแรงจากดวงอาทิตย์
ดร. แจ็ค โอมัลลีย์-เจมส์ ผู้นำทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์บอกว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกบางประเภทเช่นปะการังน้ำลึกและสัตว์ทะเลบางกลุ่มสามารถจะเรืองแสงได้ โดยกลไกปกป้องตนเองของพวกมันจะดูดซับและแปลงรังสียูวีที่เป็นอันตรายให้มีความยาวคลื่นลดลง จนมาอยู่ในช่วงคลื่นที่สายตามนุษย์สามารถมองเห็นเป็นแสงสีต่าง ๆ ได้
"หากมีสิ่งมีชีวิตที่มีกลไกคล้ายกันบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใดดวงหนึ่ง เราก็จะทราบได้ทันที เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์ประสิทธิภาพสูงส่องเห็นการเรืองแสงในลักษณะนี้" ดร. โอมัลลีย์-เจมส์ กล่าว

 ปะการัง


ทีมผู้วิจัยได้ใช้การเรืองแสงของปะการังน้ำลึกเป็นต้นแบบ เพื่อคำนวณหาความเข้มและสีสันของการเรืองแสงชีวภาพที่สิ่งมีชีวิตต่างดาวอาจเปล่งออกมาเป็นครั้งคราว รวมทั้งคำนวณโอกาสความเป็นไปได้ในการตรวจพบเอเลียนเรืองแสงด้วยกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่ ซึ่งอาจติดตั้งใช้งานบนพื้นโลกหรือในอวกาศ
รศ.ดร. ลิซา คาลเทเนกเกอร์ ผู้อำนวยการสถาบันคาร์ลซาแกนของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์บอกว่า "การเรืองแสงชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่างดาวอาจเห็นได้ชัดเจน เมื่อเกิดการปะทุรังสียูวีระดับรุนแรงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียง จนถึงขั้นทำให้แสงสีของดาวที่เอเลียนอาศัยอยู่เปลี่ยนแปลงไปและสังเกตเห็นได้"
"ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการค้นหาด้วยเทคนิคนี้ ได้แก่ดาวที่คล้ายคลึงกับโลกและโคจรรอบดาวฤกษ์ชนิด M สีส้มแดงที่มีอุณหภูมิผิวค่อนข้างต่ำ อย่างเช่นดาวพร็อกซิมาบีที่ค้นพบเมื่อปี 2016 ซึ่งอยู่ใกล้โลกและน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของการสำรวจอวกาศในอนาคต"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น